วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557

Digital On TV



ตลอดปีนี้ทั้งปีเราคงเห็นคำว่า “ทีวีดิจิตอล” ตามหน้าสื่ออยู่บ่อยๆ นะครับ เท่าที่ผมลองถามคนรอบตัวก็พบว่าคนยังเข้าใจหรือไม่รู้จักคำว่า “ทีวีเยอะมาก ผมก็ขอใช้พื้นที่ตรงนี้ช่วยให้ข้อมูลและอธิบายว่ามันคืออะไรกันแน่นะครับ

ก่อน อื่นต้องย้อนไปยังระบบทีวีในปัจจุบันที่เรานิยมเรียกกันว่า “ฟรีทีวี” ทั้งหกช่องเสียก่อน ฟรีทีวีเหล่านี้ออกอากาศด้วยคลื่นที่ส่งผ่านอากาศ จากเสาโทรทัศน์ต้นใหญ่ๆ ที่อยู่ตามภูเขาสูง ไปยังเสาก้างปลาหรือว่าเสาหนวดกุ้งตามบ้านเรือน วิธีการส่งคลื่นแบบนี้มีชื่อเรียกทางเทคนิคว่า “ทีวีภาคพื้น” ภาษาอังกฤษเรียก Terrestrial Broadcasting ซึ่งก็มีความหมายตรงตัวว่าคลื่นส่งไปมากันบนผิวโลก ไม่ได้ส่งขึ้นอวกาศแล้วยิงลงมาแบบดาวเทียม

ระบบทีวีภาคพื้นของบ้าน เราในปัจจุบันใช้การเข้ารหัสแบบแอนะล็อกซึ่งถูกคิดค้นมานานหลายสิบปีแล้ว การเข้ารหัสแบบแอนะล็อกมีข้อเสียคือการส่งสัญญาณทีวีหนึ่งช่องต้องใช้ช่วง คลื่นกว้างมาก ทำให้มีจำนวนช่องน้อยเพราะคลื่นมีจำกัด (และเป็นเหตุผลข้อหนึ่งว่าทำไมเมืองไทยถึงมีฟรีทีวีแค่หกช่อง) นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนจนสัญญาณภาพไม่ชัดในบางพื้นที่อีกด้วย

เมื่อเทคโนโลยีด้านการส่งสัญญาณทีวีพัฒนามากขึ้น จึงเกิดวิธีการส่งสัญญาณทีวีแบบใหม่ขึ้นมา 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

กลุ่ม แรกสุดคือทีวีผ่านดาวเทียมที่ทุกคนคงคุ้ยเคยกันดีอยู่แล้ว ข้อดีของมันคือมีจำนวนช่องได้มาก ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศไทย (และไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้าน) แต่ก็จำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มทั้งจานดาวเทียม และกล่องรับสัญญาณดาวเทียม ซึ่งปัจจุบันมีขายแพร่หลายทั่วไป เสียค่าใช้จ่ายหลักหนึ่งพันถึงสามพันบาทแล้วแต่จำนวนและความสามารถของ อุปกรณ์

กลุ่มที่สองคือเคเบิลทีวี หรือทีวีที่ส่งสัญญาณตามสายเคเบิลที่พาดบนเสาไฟฟ้า ทีวีระบบนี้มีจำนวนช่องได้มาก ไม่มีปัญหาฝนตกแบบดาวเทียม แต่มีปัญหาเรื่องพื้นที่ให้บริการอาจจำกัด และอาจต้องมีกล่องรับสัญญาณแบบดาวเทียมด้วยในบางกรณี

กลุ่มที่สามคือ “ทีวีดิจิตอล” ที่เราสนใจนั่นเองครับ อธิบายแบบสั้นๆ มันคือการส่งสัญญาณภาคพื้นแบบเดิม แต่เปลี่ยนมาเข้ารหัสแบบดิจิตอลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเยอะ โดยคลื่นที่เคยให้บริการช่องแอนะล็อกได้ 1 ช่อง สามารถส่งสัญญาณแบบดิจิตอลได้ถึง 40-50 ช่อง (กรณีของ กสทช. คือ 48 ช่อง) เปิด
โอกาสให้มีช่องรายการใหม่ๆ ได้มากขึ้นมาก นอกจากนี้การส่งสัญญาณแบบดิจิตอลยังมีปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนน้อยลง ภาพจึงคมชัดขึ้นตามไปด้วย

ทีวี ดิจิตอลใช้หลักคิดแบบเดียวกับทีวีแอนะล็อกในปัจจุบัน ส่งสัญญาณภาพและเสียงไปในอากาศ ใครจะดึงสัญญาณไปรับชมก็ไม่ปิดกั้น และไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่ต้องเสียค่าสมาชิกแรกเข้าหรือรายเดือนเหมือนเคเบิลทีวีหรือดาวเทียม สถานีทีวีก็หารายได้จากการโฆษณาตามปกติ  ส่วนรายการพรีเมียมแบบเก็บเงินก็ไปฉายบนเคเบิลทีวีหรือดาวเทียมแทน ซึ่งประชาชนที่สนใจรับชมก็เลือกซื้อหรือจ่ายเงินกันเองโดยที่รัฐไม่เข้าไป ยุ่งเกี่ยว

สรุปง่ายๆ ว่าทีวีดิจิตอลถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้แทนทีวีแอนะล็อก เนื่องจากรูปแบบการทำงานเหมือนกันทุกประการ แต่คุณภาพดีกว่ากันมาก มีจำนวนช่องได้เยอะขึ้น ดังนั้นทุกประเทศที่ใช้ทีวีแบบแอนะล็อกจึงต้องการเปลี่ยนระบบการแพร่สัญญาณ มาเป็นดิจิตอลให้หมด เพื่อนำคลื่นความถี่ที่มีจำกัดไปใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่นๆ แทน

แต่ เนื่องจากการแพร่ภาพด้วยระบบดิจิตอล จำเป็นต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ทั้งฝั่งขาส่ง (สถานีทีวี) และขารับ (เครื่องทีวีต้องมีตัวถอดสัญญาณดิจิตอล) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาและงบประมาณพอสมควร เพราะทีวีเก่าๆ ย่อมไม่มีภาครับสัญญาณตัวนี้มาให้ด้วย

ทางออกที่ทุกประเทศใช้แก้ ปัญหาคือแพร่ภาพทั้งสองระบบ (แอนะล็อกและดิจิตอล) ควบคู่กันไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง (มีตั้งแต่ 5-15 ปีแล้วแต่ประเทศ) และประกาศล่วงหน้านานๆ ว่าจะหยุดการแพร่ภาพระบบแอนะล็อกเมื่อใด เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ในอีกทางหนึ่งก็นำงบประมาณภาครัฐมาสนับสนุนให้ประชาชนซื้อกล่องแปลงสัญญาณ ดิจิตอลในราคาถูกกว่าท้องตลอด (ราว 300-500 บาท) เพื่อเร่งให้คนพร้อมใช้ระบบดิจิตอลมากขึ้น

น่าเสียดายว่ากระบวนการ แพร่ภาพระบบดิจิตอลของประเทศอื่นๆ เริ่มกันไปนานมากแล้ว (10-15 ปีก่อน) กรณีของประเทศไทยล่าช้าเนื่องจากไม่สามารถตั้ง “กสช.” ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านวิทยุโทรทัศน์ได้ด้วยปัญหาเรื่องกฎหมาย กว่าจะมาทำสำเร็จก็ต้องรอถึงยุคของ “กสทช.” ที่รวมหน่วยงานด้านโทรคมนาคมกับวิทยุโทรทัศน์เข้าด้วยกัน ผลคือการผลักดันดิจิตอลทีวีของบ้านเราจึงช้ากว่าประเทศอื่นๆ ถึงสิบกว่าปี

เวลา นานขนาดนั้นย่อมทำให้ภาคเอกชนที่ต้องการทำสถานีทีวีของตัวเอง (นอกเหนือจากฟรีทีวีทั้งหกช่อง) ย่อมรอไม่ไหว และหันไปทำทีวีในระบบอื่นๆ ทั้งเคเบิลและดาวเทียมกันไปก่อน ผลคือความจำเป็นของการมีทีวีดิจิตอลในบ้านเรา ณ พ.ศ. นี้ จึงอาจน้อยลงไปหน่อยเมื่อเทียบกับ 10-15 ปีก่อน เนื่องจากประชาชนหนีไปดูดาวเทียม-เคเบิลทีวีกันเยอะแล้วนั่นเองครับ (แต่ทีวีดิจิตอลก็ยังจำเป็นต้องทำอยู่ดีครับ)

ปี 2556 ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลจะเริ่มผลักดันทีวีดิจิตอลสักที โดย กสทช. จะนำคลื่นทีวีที่ว่างอยู่ช่วงหนึ่งมาจัดสรรให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมาทำทีวีดิจิตอล เพื่อฉายควบคู่กับระบบแอนะล็อกเดิมต่อไป ส่วนรายละเอียดเรื่องวิธีการแบ่งคลื่นทีวีของ กสทช. ผมจะมาขยายความต่อในสัปดาห์หน้าครับ

kd: http://www.thairath.co.th/content/336468